เนื้อเค้กมีกี่แบบ
หากเราสนใจทางด้านเบเกอรี่ โดยเฉพาะเรื่องของเค้ก เราก็ควรจะเริ่มต้นศึกษาพื้นฐานของการทำเค้กเพื่อให้รู้จักเนื้อเค้กมีกี่แบบ มีแบบไหนบ้างนะ เนื้อเค้กแบบต่าง ๆ มือใหม่ควรรู้ หากเรารู้แล้วก็จะสามารถทำเค้กได้มากมายหลายสูตรกันเลยทีเดียว เราไปทำความรู้จักกันเลยค่ะ
1. เนื้อบัตเตอร์ หรือบัตเตอร์เค้ก ( Butter Cake )
เนื้อบัตเตอร์เป็นเนื้อที่แน่นที่สุดจากเค้กทั้งหมด เพราะส่วนผสมของขนมจะหนักที่สุดเนื่องจากมีส่วนผสมของเนยค่อนข้างมาก และมีอากาศในเนื้อเค้กน้อยกว่าเค้กชนิดอื่น จึงทำให้ได้เนื้อเค้กที่ละเอียดมาก เนื่องจากรูอากาศในเนื้อขนมมีน้อย การที่บัตเตอร์เค้กมีเนื้อแน่นและมีน้ำหนักมากกว่าเค้กชนิดทำให้บัตเตอร์เค้กเป็นชนิดของเนื้อเค้กที่เหมาะกับการนำไปทำเป็นเนื้อเค้กที่ต้องรับน้ำหนักของส่วนผสมอย่างอื่นในเนื้อเค้กที่ค่อนข้างมาก อย่างเช่น เค้กผลไม้ ( fruit cake ) ที่จะต้องมีส่วนผสมของผลไม้แห้งชิ้นเล็ก ๆ ในเนื้อเค้กค่อนข้างเยอะ เป็นต้น หากเราผสมส่วนผสมที่น้ำหนักค่อนข้างเยอะในเนื้อเค้กที่เบาจะทำให้เนื้อเค้กนั้นไม่สามารถรับน้ำหนักของส่วนผสมที่เราใส่เข้าไปได้ ทำให้ส่วนผสมจะตกลงไปกองอยู่ที่ก้นพิมพ์ แทนที่จะผสมรวมกับตัวเนื้อเค้กอย่างที่เราต้องการ นอกจากนั้นอาจทำให้เนื้อเค้กที่เบานั้นไม่ขึ้นฟูเท่าที่ควรเพราะมีน้ำหนักของส่วนผสมอื่นในเนื้อเค้กไปกดตัวเนื้อเค้กไว้ ทำให้ตอนอบขนมจะขึ้นฟูได้ยากด้วย โดยทั่วไปแล้วบัตเตอร์เค้กจะมีขั้นตอนการทำคือ เริ่มจากการตีเนยกับน้ำตาลจนขึ้นฟู แล้วจึงใส่ไข่เข้าไปตีด้วย จึงใส่แป้งแล้วส่วนผสมที่เหลือเข้าไป
2. เนื้อสปันจ์ หรือเนื้อฟองน้ำ (Soponge Cake)
เค้กชนิดนี้เป็นขนมเค้กที่พบเห็นได้ตามร้านเค้กทั่วไป นิยมนำมาทำเค้กวันเกิด โรลเค้ก คัพเค้ก หรือเค้กที่ใช้ครีมในการตกแต่ง พวกเค้กส้ม เค้กช็อกโกแลต เค้กกาแฟ ส่วนใหญ่ก็เป็นสปันจ์เค้กเช่นกัน
เนื้อเค้กจะนุ่ม เบา ฉ่ำ เพราะใช้ไข่และเนยเป็นส่วนประกอบ มีปริมาณเนยน้อยกว่าบัตเตอร์เค้ก และเนื้อของสปันจ์เค้กจะหนักกว่าชิฟฟอนเค้ก สปันจ์เค้กจะใช้ไข่ไก่ทั้งใบ ไม่แยกไข่แดงกับไข่ขาว ไข่ที่นำมาทำควรจะเลือกไข่ไก่ที่สด เป็นไข่ที่อยู่ในอุณหภูมิห้อง เพื่อให้เนื้อเค้กมีความฟู เมื่อผสมส่วนผสมเข้ากันดีแล้วควรนำไปอบทันที เพราะถ้าทิ้งไว้นาน อากาศที่ตีเข้าไปจะค่อย ๆ น้อยลง และทำให้เนื้อเค้กไม่ฟูเท่าที่ควร การเก็บรักษา ควรเก็บรักษาไว้ในตู้เย็น และนำออกมาวางไว้ในอุณหภูมิห้องจนหายเย็นก่อนกิน การวางไว้จนหายเย็นจะทำให้ครีมตกแต่งและเนื้อเค้กมีความนิ่มลง ไม่ควรแช่ในช่องแช่แข็ง เพราะจะทำให้เค้กเสียรสชาติได้
3. เนื้อชิฟฟอน (Chiffon cake)
ชิฟฟอนเป็นเนื้อเค้กที่เบาที่สุด เนื้อเค้กมีโครงสร้างที่ละเอียด ลักษณะฟูเบา นุ่ม รูอากาศปานกลาง เวลากินแล้วเหมือนละลายในปาก เป็นเค้กที่แยกตีไข่แดงและไข่ขาวคนละครั้ง ไม่มีเนยเป็นส่วนประกอบ ใช้น้ำมันพืชแทนเนย น้ำมันพืชที่ใช้ได้เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน
ขึ้นฟูด้วยไข่ขาวกับน้ำตาล โดยการตีไข่ขาวเพื่ออัดอากาศลงไปในไข่ให้มีลักษณะฟูและเบา แม้จะแช่ตู้เย็นก็ยังนุ่มอยู่เพราะไม่ได้ใช้เนยเป็นส่วนประกอบ ข้อสำคัญในการทำชิฟฟอนคือ การตะล่อมไข่ขาวลงในส่วนผสมอื่นๆ ต้องทำอย่างเบามือ หรือหากจะใช้เครื่องผสม ก็ต้องใช้ความเร็วต่ำที่สุด
4. เนื้อเค้กไข่ขาว (Angel food cake)
เป็นเค้กที่เนื้อนุ่ม เบา เพราะใช้ไข่ขาวเป็นส่วนประกอบหลัก และไม่มีส่วนผสมของไข่แดงเลย ด้วยความที่เนื้อเค้กนุ่ม และเบา จึงถูกเรียกว่า ‘เค้กนางฟ้า เค้กชนิดนี้เนื้อเหมือนสปันจ์เค้ก ใส่น้ำตาลในปริมาณที่ค่อนข้างเยอะ ไม่ใช้เนยหรือน้ำมันทาที่พิมพ์ก่อนอบเหมือนวิธีการทำเค้กชนิดอื่น เพราะอาจจะทำให้เค้กพองตัวได้ไม่ดี มักจะใช้ครีมออฟทาทาร์ให้ไข่ขาวอยู่ตัว ใช้แม่พิมพ์แบบ Ring หรือแบบที่มีรูตรงกลาง เพื่อให้ขนมสุกเร็วและทำให้เนื้อเค้กไม่แห้ง เค้กไข่ขาวในช่วงแรก ๆ มักจะตกแต่งเบา ๆ ด้วยน้ำตาลไอซ์ซิ่ง ไม่ค่อยตกแต่งด้วยครีม แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการตกแต่งด้วยครีมและผลไม้ทำให้ดูน่ากินมากขึ้น
5. เนื้อมูสเค้ก (Mousse cake)
ในภาษาฝรั่งเศส คำว่า Mousse แปลว่าโฟมนั่นเองค่ะ เนื้อจะเหมือนโฟม เพราะใช้วิปปิ้งครีมหรือไข่ขาวเป็นส่วนประกอบหลัก ส่วนใหญ่จะเป็นเค้กแบบไม่อบ วิธีทำมูสเค้กจะใช้วิธีตีวิปปิ้งครีมให้ฟู ใส่เจลาตินและแช่เย็นเพื่อให้เค้กเซ็ตตัว เนื้อของมูสเค้ก จะนิยมผสมช็อกโกแลต หรือผลไม้ลงไปเพื่อเพิ่มรสชาติ ส่วนมูสเค้กแบบอบจะถูกเรียกว่า Schokotorte หรือ Shoggitorte มีต้นกำเนิดมาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เค้กชนิดนี้จะรองฐานเค้กด้วยสปันจ์เค้ก และใส่มูสเค้กลงไปสลับระหว่างชั้น เมื่อทำเสร็จแล้วต้องเก็บไว้ในตู้เย็นก่อนเสิร์ฟ และสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นนานถึงหนึ่งสัปดาห์
6.เนื้อชีสเค้ก (Cheese cake)
ชีสเค้ก เป็นเค้กที่เนื้อนุ่มฉ่ำชีส เพราะใช้ครีมชีสเป็นส่วนประกอบ ทำให้มีรสชาติค่อนข้างหนัก ส่วนใหญ่ชีสเค้ก เหมาะที่จะกินคู่กับผลไม้รสเปรี้ยว หรือชา เพื่อตัดรสชาติที่หนักของชีส ชีสเค้ก แยกย่อยออกได้อีก 2 ประเภท มีทั้งแบบที่อบ และแบบที่ไม่ต้องอบ ชีสเค้กที่ใช้ในการอบนั้น เริ่มต้นจากตีครีมชีสกับน้ำตาล ใส่ไข่ไก่และโยเกิร์ต เทลงในพิมพ์ และนำเข้าเตาอบ เวลาอบมักจะใส่พิมพ์เค้กลงในถาดน้ำร้อน และอบไปพร้อมกันด้วย เพื่อให้เนื้อเค้กยังมีความนุ่ม และเนื้อเนียน ไม่ควรใช้เวลาอบนานเกินไป และเมื่ออบเสร็จไม่ควรเอาออกจากเตาอบทันที เพราะจะทำให้หน้าเค้กไม่สวย ส่วนชีสเค้กที่ไม่อบจะใช้แครกเกอร์บดผสมกับเนย รองเป็นฐานเค้กด้านล่าง และนำครีมชีสมาผสมกับเจลาติน นำไปแช่เย็น เพื่อให้เค้กเซตตัว เป็นเค้กแบบไม่ต้องใช้เตาอบชนิดหนึ่งที่ทำง่าย และไม่ยุ่งยาก
7. เนื้อเครปเค้ก (Crepe cake)
เค้กชนิดนี้มีความพิเศษอยู่ตรงที่จะไม่ใช้ในการอบเหมือนกั[เค้กชนิดอื่น ๆ เนื้อเค้กประกอบไปด้วยแป้งสาลี ไข่ น้ำตาล นม เนย นำมาผสมกัน แล้วนาบลงบนกระทะก้นแบนจนสุก แล้วนำมาวางซ้อน ๆ กัน สลับชั้นกับครีมสด ตกแต่งหน้าด้วยครีมและผลไม้ มีต้นกำเนิดมาจากประเทศฝรั่งเศส ในสมัยก่อน เครปเค้กถูกนำมาเป็นอาหารเสี่ยงทายพืชผลทางการเกษตร เนื่องจากมีลักษณะกลม ๆ เหมือนพระอาทิตย์ มักจะนิยมกินในวัน La Chandeleur เพราะเชื่อว่าถ้าไม่กินเครปเค้ก จะทำให้ต้นอ่อนของข้าวสาลีจะแห้งและตายไปในที่สุด สมัยนี้ เครปเค้กได้เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นขนมหวานที่หลาย ๆ คนชื่นชอบ มีการใส่สีสันเป็นสีรุ้งให้ดูน่ากินมากขึ้น และมักกินกับซอสผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น สตอร์วเบอร์รี หรือ บลูเบอร์รี
8. เนื้อไอศกรีมเค้ก (Ice cream cake)
ไอศกรีมเค้ก เป็น เค้กที่ใช้ไอศกรีมแทนการใช้ครีมสดใส่ลงไประหว่างชั้นของสปันจ์เค้ก ส่วนใหญ่จะสลับแบบ 2 ชั้น คือมีสปันจ์เค้ก 2 ชั้น และมีไอศกรีมอยู่ระหว่างกลาง หรือแบบ 3 ชั้น ที่มีไอศกรีมแทรกอยู่ระหว่างชั้นสปันจ์เค้ก 3 ชั้น ไอศกรีมเค้กไม่ได้มีที่มาอย่างแน่ชัดว่าใครเป็นคนคิดค้น แต่ว่ากันว่าน่าจะเริ่มต้นในยุควิคตอเรียน และเริ่มแพร่หลายมากขึ้นเมื่อมีตู้เย็นและตู้แช่แข็ง ในปัจจุบัน ไอศกรีมเค้กมีความรูปแบบที่พัฒนามากขึ้น เช่น ใช้สปันจ์เค้กเป็นฐาน และใส่ไอศกรีมหลากหลายรสชาติเป็นชั้น ๆ ลงไปด้านบน มีการตกแต่งด้วยครีมด้านนอก และตกแต่งหน้าด้วยเชอร์รี่เชื่อม
เค้กแต่ละชนิดก็จะมีเนื้อเค้กที่แตกต่างกันออกไปและมีความโดดเด่นที่ไม่เหมือนกัน หากเรารู้ว่า เนื้อเค้กมีกี่แบบ เป็นพื้นฐานแล้ว มือใหม่อย่างเรา ก็จะสามารถทำเค้กได้หลากหลายและถ้าหากใส่ไอเดียเข้าไปเพิ่มให้มีความโดดเด่นเป็นเค้กที่เป็นเอกลักษณ์ของเราเองก็จะสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าของเค้กได้อย่างมากมาย ลองศึกษาและลงมือทำชอบเค้กเนื้อแบบไหนก็ใช้เนื้อเค้กนั้นเป็นพื้นฐานในการเริ่มต้นทำเค้กกันเลยค่ะ
เครดิตรูป
pexels
อ่านต่อที่ พายแอปเปิ้ล สูตรและวิธีการทำง่าย ๆ อร่อยทำตามได้จริง